อาหารพื้นบ้านของคนเมืองพานมีหลากหลายอย่างด้วยกัน จะยกมาในส่วนที่นิยมทานกันมากที่สุด ดังนี้
ผักเสี้ยว หรือเสี้ยวดอกแดง หรือชงโค นิยมนำยอดอ่อนมาแกงกับปลาแห้ง มะเขือเทศลูกเล็ก และมีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักขี้ขวง ผักขี้เสียด แกงผักหวาน แกงผักเซียงดา (ประทุม อุ่นศรี, สัมภาษณ์, 25 มิถุนายน 2550)
ส่วนผสม
1. ผักเสี้ยว 100 กรัม
2. ปลาแห้ง 50 กรัม
3. มะเขือเทศลูกเล็ก 5 ลูก
เครื่องแกง
1. พริกแห้ง 5 เม็ด
2. กระเทียม 5 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. กะปิ 1 ช้อนชา
5. เกลือป่น 1 ช้อนชา
วิธีการทำ


1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
2. ต้มน้ำ พอเดือด ละลายเครื่องแกงลงในน้ำเดือด
3. ใส่ปลาแห้ง ต้มจนปลานุ่ม
4. ใส่มะเขือเทศ ตามด้วยผักเสี้ยว พอผักสุก ปิดไฟ
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
การแกงผักเสี้ยว ไม่ควรแกงนาน เพราะเป็นผักใบอ่อน ควรรับประทานตอนร้อนๆ
ข้าวซอยเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากอาหารของชาวมุสลิม โดยชาวจีนฮ่อมุสลิม ซึ่งบางแห่งเรียกชื่อเต็มว่า ข้าวซอยฮ่อ หรือ ข้าวซอยอิสลาม ดังนั้น ข้าวซอยจึงใช้เนื้อไก่และเนื้อวัวเป็นส่วนผสม (รัตนา พรหมพิชัย , 2542 , หน้า 811; นงเยาว์ วิริยะ, สัมภาษณ์, 2 กรกฎาคม 2550)
ส่วนผสม
1. น่องไก่ 1 กิโลกรัม
2. เส้นข้าวซอย 1/2 กิโลกรัม
3. น้ำมันพืช 1 ถ้วย
4. กะทิ 3 ถ้วย
เครื่องแกง
1. พริกแห้ง 10 เม็ด
2. กระเทียม 10 กลีบ
3. หอมแดง 10 หัว
4. ผิวมะกรูด 1 ลูก
5. กระชาย 5 หัว
6. ขมิ้น 2 ชิ้น
7. ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
9. กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ
10. ผงกะหรี่ 1 ช้อนโต๊ะ
เครื่องเคียง
1. พริกป่นผัดน้ำมัน
2. หอมแดง
3. ผักกาดดอง
4. มะนาว
5. ผักชี
6. ต้นหอม
วิธีการทำ




1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
2. ตั้งน้ำกะทิประมาณ 1 ถ้วย พอเดือด
3. ใส่เครื่องแกงผัดจนหอม
4. ใส่ผงกะหรี่ละลายน้ำเล็กน้อย
5. ใส่ไก่ ผัดให้เข้ากัน เติมน้ำเล็กน้อย ใส่น้ำตาลปี๊บ แล้วเติมกะทิ เคี่ยวต่อจนไก่นุ่ม
6. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช พอร้อนใส่เส้นข้าวซอยที่คลี่ออกจากกันแล้ว ทอดพอเหลืองกรอบ เพื่อทำเส้นกรอบสำหรับโรยหน้า
7. ลวกเส้นข้าวซอยกับน้ำเดือดประมาณ 1 นาที แล้วนำมาลวกในน้ำเย็น
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
ข้าวซอยปรุงได้ทั้งเนื้อไก่ เนื้อวัว สำหรับการทำข้าวซอยเนื้อ สำหรับการทำข้าวซอยเนื้อควรหั่นเป็นชิ้นพอคำ ต้มให้เปื่อยก่อน แล้วนำไปเคี่ยวกับเครื่องแกง
เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
การเลือกเนื้อไก่ ควรเลือกน่องและสะโพก สำหรับข้าวซอยเนื้อ ควรใช้เนื้อสันคอ
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. เข้าซอย. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 811). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ขนมจีน หรือเข้าหนมเส้น หรือเข้าเส้น ชาวล้านนานิยมมารับประทานเป็น ขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือเข้าหนมเส้นน้ำเงี้ยว ( รัตนา พรหมพิชัย , 2542 , 825-826 ) น้ำเงี้ยวเป็นน้ำแกงที่รับประทานกับขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยว เรียกก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยว บางสูตรใช้ถั่วเน่าแข็บหรือถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ โขลกลงในเครื่องแกง แทนการใส่เต้าเจี้ยว ชาวไทใหญ่ หรือเงี้ยว เรียกว่า เข้าเส้นน้ำหมากเขือส้ม ( รัตนา พรหมพิชัย , 2542 , 3221 )
ส่วนผสม
1. ขนมจีน 1 กิโลกรัม
2. เนื้อหมูบดหยาบ 1/2 กิโลกรัม
3. ซี่โครงหมู 1/2 กิโลกรัม
4. เลือดไก่ต้ม 3 ก้อน
5. มะเขือเทศลูกเล็ก 1/2 กิโลกรัม
6. งิ้วแห้ง 10 ดอก
7. เต้าเจี้ยว 3 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำมันพืช 1/2 ถ้วยตวง
เครื่องแกง
1. พริกแห้ง 10 เม็ด
2. รากผักชี 10 ต้น
3. กระเทียม 10 กลีบ
4. หอมแดง 10 หัว
5. กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ
6. เกลือ 3 ช้อนชา
เครื่องเคียง
1. กระเทียม
2. ผักชี
3. ต้นหอม
4. พริกขี้หนูแห้งทอด
5. มะนาว
6. ถั่วงอก
7. ผักกาดดอง
วิธีการทำ




1. ต้มน้ำ พอเดือด ใส่ซี่โครงหมู ต้มจนหมูนุ่ม
2. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
3. ผัดเครื่องแกงกับน้ำมัน จนมีกลิ่นหอม ใส่เต้าเจี้ยวลงผัด คนให้เข้ากัน
4. ใส่หมูบด ผัดให้เข้ากัน จนหมูสุก
5. ใส่เครื่องแกงที่ผัดแล้วลงในน้ำหม้อต้มกระดูก ต้มจนเดือด ใส่ดอกงิ้ว ต้มต่อประมาณ 10 นาที
6. ใส่เลือดไก่ที่หั่นแล้ว คนให้ทั่ว
7. ใส่มะเขือเทศ
8. ตั้งไฟต่อประมาณ 5 นาที ยกลง นำขนมจีนใส่จาน ราดด้วยแกง (น้ำเงี้ยว) รับประทานกับเครื่องเคียง
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
การทำน้ำเงี้ยวสามารถใช้เลือดไก่หรือเลือดหมูก็ได้
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. น้ำเงี้ยว. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 6, หน้า 3221). กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
จอผักกาด เป็นตำรับอาหารที่ใช้ผักกาดกวางตุ้งที่กำลังออกดอก หรือเรียกว่า ผักกาดจ้อน หรือผักกาดดอก ซึ่งปรุงด้วย เกลือ กะปิ ปลาร้าหรือกะปิ ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกหรือมะขามสด ใส่กระดูกหมูด้วยก็ได้ ซึ่งบางแห่งนิยมใส่น้ำอ้อย ลงไปด้วย บางสูตรใส่ถั่วเน่าแข็บ หรือถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ นิยมรับประทานกับพริกแห้งทอด ตัดเป็นท่อน โรยหน้าแกง หรือรับประทานต่างหาก แล้วแต่ชอบ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 1790 ; อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 6 กรกฎาคม 2550)
ส่วนผสม
1. ผักกาดกวางตุ้ง 1 กิโลกรัม
2. ซี่โครงหมู 400 กรัม
3. หอมแดง 5 หัว
4. กระเทียม 10 กลีบ
5. ถั่วเน่าแข็บย่างไฟ 2 แผ่น
6. กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
7. น้ำมะขามเปียก 3 ช้อนโต๊ะ
8. เกลือป่น 1 ช้อนชา
9. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีการทำ



1. ต้มน้ำเปล่า พอเดือด ใส่ซี่โครงหมูสับ ต้มจนกระทั่งหมูนุ่ม
2. โขลกกระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือ รวมกันให้ละเอียด ใส่ลงในหม้อต้มซี่โครงหมู
3. พอเดือด ใส่ผักกวางตุ้งเด็ดเป็นท่อน
4. พอผักนุ่ม ใส่ถั่วเน่าแผ่นโขลกละเอียด
5. ใส่น้ำมะขามเปียก คนให้ทั่ว พอเดือด ปิดไฟ
6. ตั้งกระทะใส่น้ำมัน พอร้อน ใส่พริกขี้หนูแห้งลงทอด พอกรอบ ตักขึ้น ใส่กระเทียมสับ เจียวให้เหลือง เททั้งกระเทียมเจียวและน้ำมัน ใส่หม้อจอผักกาด (จ่าว) คนให้เข้ากัน
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
บางสูตรใส่ปลาร้า หรือบางสูตรใส่น้ำอ้อยเพื่อให้มีรสหวาน
ถ้าใช้มะขามสด ให้ลวก หรือเผา แล้วแกะเอาเปลือกออก เลือกเอาแต่เนื้อและน้ำ เพื่อนำไปปรุงรส รสชาติของจอผักกาดจะกลมกล่อม
เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกผักกาดกวางตุ้งที่ใหม่และสด จะทำให้จอผักกาดมีรสชาติกลมกล่อม
รายการอ้างอิง
รัตนา�พรหมพิชัย.�(2542).�ชอผักกาด/ผักกาดชอ.�ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ�(เล่ม 4, หน้า 1790-1791).�กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
จอผักปลัง เป็นตำรับอาหาร ที่มีวิธีการปรุงที่เรียกว่า จอ เช่นเดียวกับจอผักกาด บางสูตร ใช้พริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียม กะปิ นิยมใส่แหนมหรือจิ๊นส้ม ปรุงรสให้เปรี้ยวด้วย มะนาว และมะเขือเทศ รับประทานกับพริกชี้ฟ้าเผา บางสูตรใช้พริกหนุ่มเผาไฟ ปอกเปลือกออก แล้วใส่เป็นเครื่องปรุง บางสูตรก็ใช้พริกหนุ่มสด เป็นเครื่องปรุง โดยใส่ลงไปทั้งเม็ด (ภัณฑิรา กัณทะกาลังค์, สัมภาษณ์, 19 มิถุนายน 2550; นงเยาว์ วิริยะ, สัมภาษณ์, 2 กรกฎาคม 2550)
ส่วนผสม
1. ผักปลัง 200 กรัม
2. จิ๊นส้ม 50 กรัม
3. น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
4. พริกชี้ฟ้าย่างไฟ 2 เม็ด
5. มะเขือเทศ 4 ลูก
เครื่องแกง
1. พริกชี้ฟ้า 1 เม็ด
2. กระเทียม 5 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. กะปิ 1 ช้อนชา
5. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีการทำ


1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
2. ต้มน้ำเปล่า พอเดือด ใส่เครื่องแกง และตามด้วยจิ๊นส้ม
3. ใส่ผักปลัง ตามด้วยมะเขือเทศ ต้มพอเดือดสักครู่
4. ใส่น้ำมะนาว คนให้เข้ากัน พอเดือด ยกลง
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
ไม่ควรต้มนาน เพราะผักสุกง่าย
เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกจิ๊นส้มที่มีรสเปรี้ยวพอดี
คั่วหน่อไม้ หรือผัดหน่อไม้ หรือคั่วหน่อ ถ้าชอบใบขิง หั่นใบขิงโรยหน้า หรือผัดลงไปตอนที่หน่อไม้ใกล้สุกแล้ว หรือเติมใบแมงลักก็ได้ บางสูตร ย่างพริกสดแล้วปอกเปลือกแล้วผัดลงไปกับหน่อไม้ หรือใช้พริกสดแทนพริกขี้หนู (สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 15 มิถุนายน 2550; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 649)
ส่วนผสม
1. หน่อไม้ 2 ถ้วย
2. เนื้อหมูสามชั้น 50 กรัม
3. พริกชี้ฟ้า 3 เม็ด
4. กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
5. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
เครื่องแกง
1. พริกขี้หนู 7 เม็ด
2. กระเทียม 10 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. กะปิ 1 ช้อนชา
5. ปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ
6. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีการทำ


1. ใช้ส้อมหรือไม้แหลมฉีกหน่อไม้ที่ต้มแล้วให้เป็นฝอย
2. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
3. เจียวกระเทียมที่สับแล้วให้พอเหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ใส่หมูสามชั้น
4. ผัดให้หมูสุก ใส่พริกชี้ฟ้าที่หั่นเฉียง ใส่หน่อไม้
5. ผัดให้เข้ากัน พอสุก ปิดไฟ
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
การต้มหน่อไม้ ควรใส่หน่อไม้ลงต้มขณะที่น้ำเย็น ถ้าเป็นช่วงที่มีหน่อไม้ไล่ ควรใช้หน่อไม้ไล่ต้ม จะมีรสชาติกลมกล่อมกว่า
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย.�(2542).�ขั้วหน่อ.�ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ�(เล่ม 2, หน้า 649).�กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ตำขนุน หรือ ตำบ่าหนุน เป็นตำรับอาหารที่มีวิธีการปรุง เรียกว่า ตำ คือการนำเอาส่วนผสม คือขนุนอ่อนต้มให้เปื่อย แล้วนำมาโขลกรวมกันเครื่องแกง นำไปผัดกับน้ำมันกระเทียมเจียว ใส่มะเขือเทศ ใส่ใบมะกรูด รับประทานกับกระเทียมเจียว ผักชีต้นหอม และพริกแห้งทอด (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, หน้า 2409; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550)
ส่วนผสม
1. ขนุนอ่อน 400 กรัม
2. เนื้อหมูสับ 100 กรัม
3. ใบมะกรูด 5 ใบ
4. กระเทียมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ
5. ผักชีซอย 1 ช้อนโต๊ะ
6. ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ
7. พริกขี้หนูแห้งทอด 5 เม็ด
8. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
9. กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
เครื่องแกง
1. พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด
2. กระเทียม 10 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. ข่าหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
5. ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
6. กะปิ 1 ช้อนชา
7. ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
8. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีการทำ



1. หั่นขนุนอ่อนตามขว้าง แล้วนำไปต้มให้เปื่อย ตักขึ้น พักไว้
2. โขลกขนุนให้ละเอียด พักไว้
3. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
4. เจียวกระเทียมพอเหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม
5. ใส่หมูสับ แล้วผัดให้หมูสุก
6. ใส่มะเขือเทศ ใส่ขนุนลงผัดให้เข้ากัน ตามด้วยใบมะกรูด ปิดไฟ
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
ต้มขนุนให้เปื่อย
เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกขนุนอ่อน เนื้อสีขาว และเมล็ดขนุนยังอ่อนอยู่
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ตำบ่าหนุน. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 4, หน้า 2409). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
น้ำพริกต่อ เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งถึงข้น ชนิดของพริกที่นิยมใช้คือ พริกดิบ จะเป็นพริกชี้ฟ้า หรือพริกดิบพันธุ์ใดก็ได้ ถ้าชอบเผ็ด ให้ใช้พริกชี้ฟ้า การทำให้ตัวต่อสุก ใช้วิธีต้ม หรือห่อใบตองย่างไฟก็ได้ ห่อใบตองย่างไฟ จะมีกลิ่นหอมของใบตอง ส่วนผสมนี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นแตนตัวอ่อน หรือผึ้งตัวอ่อน ก็ใช้สูตรการทำเหมือนกัน และเรียกชื่อน้ำพริกว่า น้ำพริกแตน น้ำพริกผึ้ง (ศิริพร โปร่งคำ, สัมภาษณ์, 21 มิถุนายน 2550)
ส่วนผสม
1. ตัวต่ออ่อน 20 ตัว
2. พริกชี้ฟ้าย่างไฟ 2 เม็ด
3. หอมแดงย่างไฟ 3 หัว
4. กระเทียมย่างไฟ 5 หัว
5. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีการทำ

1. นำตัวต่อไปนึ่งให้สุก พักไว้
2. แกะเปลือกพริก หอมแดง กระเทียมออก นำมาโขลก รวมกันให้ละเอียด
3. ใส่ตัวต่อลงโขลกและคนให้เข้ากัน
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
การนึ่งตัวต่อ ให้นึ่งทั้งรังต่อ แล้วค่อยแกะตัวต่อออกที่หลัง
เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกตัวต่ออ่อน ถ้าเป็นตัวแก่ น้ำพริกมีกากของปีกต่อ รสชาติไม่อร่อยเท่าตัวอ่อน
ห่อนึ่งไก่ เป็นอาหารปรุงด้วยเนื้อไก่ เป็นส่วนผสมหลัก นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง ห่อด้วยใบตอง และนึ่งจนสุก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, หน้า 7521) บางสูตรใช้วิธีนำเครื่องแกงลงผัดกับน้ำมันให้หอมก่อน แล้วจึงใส่เนื้อไก่ลงไปผัดให้เข้ากัน นำไปห่อใบตอง และนึ่งเป็นลำดับต่อไป (อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 6 กรกฎาคม 2550)
ส่วนผสม
1. เนื้อไก่บ้าน 500 กรัม
2. ข้าวคั่ว 1/2 ถ้วย
3. ใบมะกรูด 7 ใบ
4. ผักชีซอย 1 ช้อนโต๊ะ
5. ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ
เครื่องแกง
1. พริกขี้หนูแห้ง 20 เม็ด
2. หอมแดง 5 หัว
3. กระเทียม 10 กลีบ
4. ข่าหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
5. ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
6. ขมิ้น 1 แว่น
7. กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
8. เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีการทำ




1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
2. ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันพืชให้หอม ใส่ไก่หั่นเป็นชิ้น พอไก่สุกเติมน้ำ พอเดือด ตักใส่ชาม
3. ใส่ข้าวคั่ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน
4. ใส่ใบมะกรูดและผักชีต้นหอม คลุกเคล้าให้เข้ากัน
5. เตรียมใบตองกว้างประมาณ 8 นิ้ว ตัดหัวตัดท้าย นำมาซ้อนกันสองชั้น ตักส่วนผสมใส่บนใบตอง
6. ฉีกใบตองกว้างประมาณ 3 นิ้ว ห่อด้านนอกอีก 1 ชั้น ใช้ไม้กลัด กลัดใบตอง
7. ใช้กรรไกรตัดแต่งห่อใบตองให้สวยงาม
8. นำลงนึ่งในลังถึง ประมาณ 30 นาที
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
ใช้พริกขี้หนูสวนแห้ง หรือพริกขี้หนูยอดสนแห้ง มีรสเผ็ดที่พอดี
ถ้าชอบใบยอ ให้นำใบยอมารองใบตองก่อนตักส่วนผสมใส่ใบตอง
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ห่อหนึ้ง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 4, หน้า 2409). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ที่มาของอาหารพื้นเมืองทั้งหมด http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น