welcome to phan

สวัสดีครับ

ศิลปวัฒนธรรม / ประเพณี อำเภอพาน

วัฒนธรรม/ประเพณีเมืองพาน


ประเพณีลอยกระทง
            การลอยกระทงของคนในภาคเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก  หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า แต่ในปัจจุบันได้มีการจัดงานวันลอยกระทงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๑๒ โดยจัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในหลายๆจังหวัด  เช่น ประเพณีกระทงสาย ของจังหวัดตากเป็นพิธีที่น้ำเอาพระพุทธศาสนาภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาหล่อหลอมกันจนเป็นรูปแบบที่โดดเด่น ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น เมื่อเราน้ำกระทงมาลอยกระทงจะไหลไปตามร่องน้ำเกิดเป็นสายยาวต่อเนื่องทำให้แสงไฟของกระทงส่องแสงระยิบระยับเป็นสายยาวทำให้ดูแล้วสวยงามมาก ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาเป็นการประกวดกระทงสวย ส่วนประกอบของกระทงสาย มีดังนี้ 1.กระทงนำ เป็นกระทงที่มีขนาดที่ใหญ่ที่ตกแต่งด้วยใบตองสด ซึ่งประกอบไปด้วยดอกไม้สดหลากหลายที่สันที่มีความสวยงามพร้อมมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมาก พลู ขนม ฯลฯ เพื่อทำพิธีจุดธูปเทียวบูชาแม่น้ำคงคาและบูชาพระพุทธเจ้า และจากนั่นก็น้ำลงลอยเป็นอันดับแรก 2.กระทงตาม เป็นกระทงกะลามะพร้าวที่ไม่มีรู นำมาขัดถูให้สะอาด ภายในกะลานี้ ใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนไขหรือน้ำผึ้ง สำหรับเป็นเชื้อไฟจุดก่อนปล่อยลงลอย 3.กระทงปิดท้าย  เป็นกระทงขนาดกลาง ที่ตกแต่งอย่างสวยงามคล้ายกระทงน้ำแต่มีขนาดที่เล็กกว่า เป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการลอยของสายนั่นๆ 


ที่มา https://sites.google.com




ประเพณีสงกรานต์เมืองพาน


              สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เมษายน) หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ โดยการยิงปืนและการจุดประทัด มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร จากนั้น ชาวบ้านจะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้าน ไปกองไว้แล้วจุดไฟเผา และทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้า มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอนไปซัก ส่วนอุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดด เสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
             ถัดมาคือ "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เมษายน) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้าย เพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี โดยในวันนี้ตามประเพณี ถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่า ทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาด เพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันดา" (คือวันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยขนจากแม่น้ำปิง แล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ตุง" ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า "ช่อ"   การทาน หรือถวายตุง หรือช่อนี้ ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออกวัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัด ซึ่งเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้าง หรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในวันขนทราย จะมีการเล่นรดน้ำกัน และเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมือง จะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาว ทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมือง คล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบ ใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน
            วันที่สาม "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เมษายน) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไป "รดน้ำดำหัว" ขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ (สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น
            วันที่สี่ "วันปากปี" (16 เมษายน) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ โดยตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับ รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง เพราะถือว่าเป็นอานิสงส์ และวันที่ 5 "วันปากเดือน" (17 เมษายน) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
            ทั้งนี้ ประเพณีดำหัว สำหรับชาวล้านนาหมายถึง "การสระผม" เพื่อเป็นการชำระสะสางเอาสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสไป โดยการใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ ซึ่งการดำหัวของชาวล้านนามี 3 ลักษณะ...
          ลักษณะที่ 1 ดำหัวตนเอง คือ ทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล "สัพพทุกขา สัพพภย สัพพโรคา วินาสันตุ" แล้วลูบหัวด้วยน้ำส้มป่อย
          ลักษณะที่ 2 ดำหัวผู้อาวุโสที่เราเคารพนับถือ เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระเถระ ผู้นำฯ
          ลักษณะที่ 3 ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน คือการใช้น้ำส้มป่อยลูบศรีษะภรรยา บุตร หลาน

ที่มา https://sites.google.com




ประเพณีตานก๋วยสลาก


         ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า/ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์/สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา

        [ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก] ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาของชาวถิ่นล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการอาจจะแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของรายละเอียดถ้าเป็นภาษาไทยกลางเรียกว่า "สลากภัต" ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้นเมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง

       ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ"วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากและวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆก๋วยจะกรุด้วยใบตอง/หรือตองจี๋กุ๊กเมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์/กล่องไม้ขีดไฟ/บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ

ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ
๑. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่นช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้นหรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า

๒. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง

       สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน" สลากโชค"มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่างเช่น "ศรัทธาหมายมีนายอดุมทรัพย์ นางสำรวย ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยทองแม่อุ้ยคำ ผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ" เป็นต้น
       ในสมัยก่อนนั้นจะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณีส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีลให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี

ที่่มา http://www.med.cmu.ac.th




ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ 


         ประเพณีขึ้นปีใหม่ นับว่าเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยไปแล้ว เพราะเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวได้พบหน้ากัน ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน แทบทุกคนมักเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงและก้าวเดินในเส้นทางใหม่ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น โดยนับเอาวันนี้เป็นวันฤกษ์ดี เอาฤกษ์เอาชัยให้กับตนเอง

ประวัติความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่

        ในความเป็นจริงแล้วคนไทยถือเอาเดือน 5 ขึ้น 1 คํ่า เป็นวันปีใหม่ไทย ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์และยังคงเป็นประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่จัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีนั้นเป็นการนับตามปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อให้เป็นสากล เราจึงถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเช่นเดียวกัน

กิจกรรมที่นิยมทำในวันปีใหม่

        โดยปกติประเพณีวันขึ้นปีใหม่นั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม เพราะในวันนี้ลูกหลานที่ไปเรียนหรือไปทำงานต่างที่จะกลับบ้านเพื่อมากราบเท้าพ่อแม่และร่วมฉลองในวันขึ้นปีใหม่ด้วยกัน โดยกิจกรรมสำคัญจะนิยมจัดขึ้นในค่ำวันที่ 31 ธันวาคม ไม่ว่าจะเป็นงานสังสรรค์ งานจับของขวัญสำหรับเด็ก รวมไปถึงงานนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยในวันนี้ยังมีการจัดตกแต่งอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ ด้วยไฟกระพริบและไฟต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามตระการตามาก ๆ หลังจากเข้าสู่วินาทีแรกของปีใหม่แล้ว จะมีการจุดพลุนับร้อยนับพันนัดเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและเพื่อเป็นสิริมงคลว่าชีวิตในปีใหม่นี้จะรุ่งเรืองสดใสและมีแต่ความสุขตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากการนับถอยหลังเฉลิมฉลองแล้วปัจจุบันยังนิยมสวดมนต์ข้ามปีเพื่อเป็นสิริมงคล สะเดาะเคราะห์และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเรื่องเลวร้ายให้ผ่านพ้นไปพร้อมกับปีเก่าอีกด้วย

        เนื่องจากเป็นวันที่นับเริ่มต้นปีใหม่ ในช่วงเช้าชาวไทยจะนิยมพากันไปตักบาตรทำบุญและฟังธรรมที่วัด เพื่อให้เป็นสิริมงคลในวันเริ่มต้นปี หลังจากนั้นจะทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ทิ้งสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของเก่า ของสกปรกและนำสิ่งของใหม่ ๆ เข้าบ้าน รวมถึงบางคนยังเริ่มต้นนับวันขึ้นปีใหม่นี้เป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ เปลี่ยนนิสัยใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนความคิดเพื่อให้ชีวิตได้เริ่มนับ 1 ใหม่ไปพร้อม ๆ กับวันปีใหม่นั่นเอง

        สำหรับวันปีใหม่นั้นนับให้เป็นวันหยุดราชการ โดยปกติแล้วจะเริ่มต้นหยุดกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม ส่วนประชาชนทั่วไปจะเริ่มหยุดงานเพื่อเฉลิมฉลองตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมและอาจเลยไปจนถึงวันที่ 4 – 5 มกราคมของทุกปี






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น